วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

วัดโพธิ์

วัดโพธิ์ เที่ยวไหว้พระใจกลางกรุง

เรื่องราวแห่งห้วงอดีตตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังคงดังมาให้เราได้สดับรับฟัง ที่แม้จะดูเบาบางแต่ก็ยังคงแว่วมาถึง กระแสรับรู้เป็นระยะๆ นับตั้งแต่ช่วงวัยเรียนจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ดูเหมือนเรื่องราวของบรรพบุรุษบนที่ลุ่มภาคกลาง แห่งนี้แทบทุกด้านไม่เคยจางไปในฐานะของประวัติศาสตร์ที่ชี้มายังอนาคตอยู่เสมอ
ไม่เพียงแต่แค่การบันทึกด้วยถ้อยคำเรียงร้อยออกมาเป็นตัวอักษร ประวัติศาสตร์หลายสิ่งหลายอย่างยังถูกบันทึก เอาไว้ในรูปแบบของตัวตนที่มีอยู่จริง รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสครบถ้วนทั้งหกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทุกข์โศกชมชื่นที่ ถึงขั้นว่าเลือดทาแผ่นดิน หรือจะเป็นความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูนสุข ประวัติศาสตร์เหล่านี้ล้วนมีพยานยืนยันมากมาย เหลือคณานับ ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ส่งทอดเรื่องราวสู่ชนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่องในต่างรูปแบบ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ส่วน หนึ่งที่ได้กลายมาทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งจะพาเราย้อนกาลเวลากลับไปสู่อดีตท่ามกลางสภาพแวดล้อมของปัจจุบัน ด้วยตัวตนที่ตั้งตระหง่านผ่านฟ้าฝนมาเกินสองร้อยปี และมีอยู่นับร้อยแห่ง... และหนึ่งในนั้นก็คือ "วัดโพธิ์" ใจกลางเมือง ฟ้าอมรนี่เอง...
มีนักท่องเที่ยวถ่ายภาพท่านใดบ้างที่ยังไม่เคยบันทึกภาพของ "วัด" ด้วยอาวุธประจำกาย? แน่นอนว่าถึงจะมีแต่ก็คงจะหาได้ยากเต็มทน ซึ่งไม่วันใดวันหนึ่งก็คงไม่พ้นจะต้องถ่ายภาพจากสถานที่เหล่านี้อยู่ดี และหากเอ่ยถึงสถานที่ ประเภทนี้ที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุด ก็เห็นจะไม่พ้นพื้นที่มรดกโลกอย่าง "อยุธยา" ที่แม้แต่ฝรั่งมังค่ายังต้องขอบินลัดฟ้ามา ร่วมชื่นชมความยิ่งใหญ่อลังการแห่งอดีตนี้เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี จนอาจกล่าวได้ว่าเสียงชัตเตอร์ไม่เคยจางหายไป จากอยุธยาตราบใดที่พระอาทิตย์ยังคงทำหน้าที่อยู่บนฟากฟ้าเป็นปกติ แล้วถ้าจะท่องไปในหน้าประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา จำเป็นต้องเฉพาะที่ จ.อยุธยา เท่านั้นหรือ?
คำตอบคือไม่ใช่ ยังมีวัดอันถือกำเนิดในสมัยนั้นแต่ยังยืนหยัดมาจนปัจจุบันจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของเราเสียด้วย นั่นก็คือ "วัดโพธิ์" ที่หลายคนเคยไปเยือนมาแล้ว ความดังของวัดโพธิ์แห่งนี้ยืนยันได้จากสถิติที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 24 ของโลกในปี พ.ศ. 2549 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวรวมในปีนั้นกว่าแปดล้านคน! แล้วเราจะว่ายังไงดีหากเราเป็นคนหลังกล้องแต่ว่ายังไม่เคยไปถ่ายภาพที่นี่สักครั้งหนึ่งเลย?
ครั้งหนึ่งในช่วงก่อนสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า "ท่าเตียน" ออกเผยแพร่ไปทั่วสารทิศ (ถ้าจะจัดประเภทในสมัยนี้ก็คงเป็นแนวแฟนตาซี แต่ในยุคนั้นต้องเรียกว่าแนว "อภินิหาร") ผู้ที่ได้ชมต่างมีอาการตื่นเต้นเร้าใจ เพราะภาพในหนังนำเสนอยักษ์สองฝ่ายตัวสูงเทียมฟ้าโรมรันพันตูกันกลางกรุงเทพ! ฝ่ายหนึ่งนั้นมาจากฝั่งธนฯ ส่วนอีกฝ่ายมาจากพระนคร สังกัดวัดด้วยกันทั้งคู่ (เรียกว่าเด็กวัดก็เห็นจะไม่ผิด) สาเหตุของการวิวาทก็คงจะฝากให้ไปหามาดูกัน คนยุคดิจิตอลดูแล้วคงหัวเราะหน้าระรื่นกับสเปเชี่ยลเอฟเฟคในสมัยกว่าสามสิบปีที่ปรากฏ แต่ต้องขอบอกว่าในยุคนั้นเป็นหนังที่สร้างความฮือฮาตื่นเต้นจริงๆ เนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากตำนานของยักษ์จากสองวัดที่ตีกันราวกับวัยรุ่น แต่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านร้านตลาดบริเวณนั้นอย่างสาหัส และลงท้ายด้วยการถูกลงโทษด้วยกันทั้งคู่
...หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง "ยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์" มาแล้ว ยักษ์จากสองวัดนั่นแลคือตำนานของ "ท่าเตียน" ท่าเรือที่อยู่ติดกับวัดโพธิ์แห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ชื่อเสียงที่ลือเลื่องในอีกด้านหนึ่งของวัดโพธิ์ก็คือ เรื่องของตำราและศาสตร์แห่งการนวดแผนโบราณที่สืบทอดภูมิ ปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมมายาวนานได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทุกอย่างที่ถูกจารึกไว้ตามส่วนต่างๆ ของวัดล้วนน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการบันทึกหรือสรรพวิทยาที่ถ่ายทอดออกมาด้วยการใช้ภาพอธิบายร่วมกับตัวอักษร
ในอีกด้านหนึ่งนั้นก็คือเรื่องของสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้ที่ใดในโลก รวมไปถึงบรรดารูปเคารพบูชาทั้งพระพุทธรูปและตุ๊กตาหินขนาดใหญ่ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่สร้างความประทับใจอย่างไม่มีที่ใดเสมอเหมือน ประวัติโดยละเอียดของวัดโพธิ์นั้นหาศึกษากันตามแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น วิกิพีเดียและเว็บไซต์ของทางวัดได้ไม่ยาก จึงจะนำมากล่าวโดยย่อว่า "วัดโพธิ์" เป็นชื่อเรียกขานที่ติดปากชาวพุทธพระนครมาช้านาน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร" (เหตุที่เรียกว่าวัดโพธิ์เป็นเพราะวัดเดิมชื่อ "วัดโพธาราม") เป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ จัดสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อใด) ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ได้ทรงโปรดเกล้าให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ในปี พ.ศ. 2331 โดยทรงสร้างพระอุโบสถพระระเบียงพระวิหาร รวมทั้งบูรณะของเดิมแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2344 วัดโพธิ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551
วัดโพธิ์ ในทุกวันนี้ยังเต็มไปด้วยคุณค่าแห่งประวัติศาสตร์ที่อธิบายและเล่าเรื่องด้วยตัวตนจริง ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงมีมนต์ขลังและงดงามอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งต้องขอบอกว่าน่าเสียดายถ้าหากว่าคุณไม่ได้ไปเยือนชม.. เที่ยวเมืองไทยใกล้ตัว...ไม่ไปไม่รู้จริงๆ

ที่มา  :  http://travel.sanook.com/1021545

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น